วันอังคารที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2555

Colt Defender.45



1911 ตัวเล็กลูกโตขนาด .45 โคลท์ ดีเฟนเดอร์ Colt Defender

ปืนพกกึ่งอัตโนมัติขนาด .45 ของ   โคลท์ ที่บ้านเราเคยเรียกกันว่า “สิบเอ็ด มม.” ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในนาม “1911” เนื่องจากปืนรุ่นนี้เมื่อครั้งที่โคลท์ให้กองทัพบกสหรัฐ ทดสอบเปรียบเทียบจนได้รับการบรรจุเข้าประจำการในกองทัพสหรัฐได้ชื่อเป็นทาง การว่า “Model of 1911” โดยตัวเลขก็คือปี ค.ศ. ที่เข้าประจำการนั่นเอง สหรัฐ ใช้ปืน 1911 มาจนถึงปี ค.ศ. 1985 จึงเปลี่ยนเป็นเบเร็ตต้า ขนาด 9 มม. แทน สิทธิบัตรที่คุ้มครองโคลท์ในการผลิตปืนนี้หมดอายุไปหลายสิบปีแล้ว จึงมีผู้ผลิตอื่น ๆ หลายรายนำแบบไปลอกเลียนเปลี่ยนปรับ ผลิตออกมาสู่ตลาด ใช้ชื่อสามัญแบบเป็นกลางว่า 1911 เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา “ทรัพย์สินทางปัญญา” เพราะยี่ห้อโคลท์ไม่ได้หมดอายุตามสิทธิบัตรปืน โดยผู้ผลิตหน้าใหม่แต่ละรายใช้ชื่อทางการค้าของตัวเองแตกต่างกันไป

ในทางพาณิชย์ โคลท์ผลิตปืนพกตามแบบปืนทหาร 1911 นี้ ใช้ชื่อว่า “กัฟเวิร์น    เม้นท์” (Government) ออกขายอย่างแพร่หลาย และในปี ค.ศ. 1949 เมื่อทางกองทัพต้องการ ปืนที่เล็กกว่า เบากว่า สำหรับนายทหารผู้ใหญ่ ก็ผลิตรุ่น “คอมมานเดอร์” (Commander)โดยตัดลำกล้องจาก 5 นิ้ว เหลือ 4.25 นิ้ว ใช้โครง อะลูมิเนียมเพื่อลดน้ำหนัก และรุ่นคอมมานเดอร์นี้ ต่อมามีแบบใช้โครงเหล็กให้เลือกเรียกว่า “คอมแบ็ต คอมมาน เดอร์” (Combat Commander) จากนั้นที่สั้นลงไปอีกคือ 3.5 นิ้ว เรียกว่า ออฟฟิเซอร์ (Officer) และสั้นสุด 3 นิ้ว คือ ดีเฟน เดอร์ (Defender) ชื่อรุ่นทั้งสี่ของโคลท์ ถือเป็นเครื่องหมายการค้านะครับ ปืนยี่ห้ออื่นนำไปใช้เรียกชื่อรุ่นไม่ได้ แต่ทางด้านผู้บริโภคด้านใช้อ้างอิงความยาวลำกล้องของปืนในตระกูล 1911 ได้อย่างดี คือพวกที่ลำกล้อง 4.0-4.5 นิ้ว เรียกกว่า “คอมมานเดอร์คลาส” (Commander Class) พวก 3.5 นิ้ว เรียก “ออฟฟิเซอร์คลาส” (Officer Class) และ 3 นิ้วเรียก “ดีเฟนเดอร์คลาส” (Defender Class) ซึ่ง ณ วันนี้ยังไม่มีปืนระบบ 1911 ที่ทำลำกล้องสั้นกว่า 3 นิ้ว

โคลท์ ดีเฟนเดอร์ ตัวเล็กสุดของตระกูลโคลท์ .45 ออโต้ นี้แม้ว่าจะลดความยาวลำกล้องลงมาถึงร้อยละ 40 (จาก 5 นิ้ว เหลือ 3 นิ้ว) แต่ระบบการทำงานยังเป็นแบบรีคอยล์ ลำกล้องกระดกเพื่อปลดกลอน โดยใช้ “ห่วงโตงเตง” ช่วยดึงท้ายลำกล้องลงหลังจากลำกล้องและลำเลื่อนถอยหลังมาด้วยกันระยะหนึ่ง ซึ่งเป็นวิธีการที่ จอห์น เบรานิงก์ ออกแบบไว้กว่าร้อยปีมาแล้ว ส่วนปลายลำกล้องมีการปรับแบบ จากเดิมตัวใหญ่ใช้ปลอกรัดปลายลำกล้องบิดตัวจับกับลำเลื่อนส่วนหน้าพอสั้นลง มาในระดับ 3-3.5 นิ้ว ก็เลิกใช้ปลอกรัดตัวนี้ และลำกล้องและลำเลื่อนที่สั้นลงมาก ทำให้น้ำหนักรวมน้อยลง เมื่อกระสุนลั่นลำเลื่อนจะถอยหลังเร็วกว่า 1911 ขนาดมาตรฐานมาก จำเป็นต้องใช้ชุดสปริงลำเลื่อนแบบสองชั้นซ้อนเพื่อช่วยรับลำเลื่อนไม่ให้ กระแทกโครงแรงเกินไป

จากปืนพกขนาดใหญ่ ตัดลำกล้องสั้นลงมาหยุดที่ 3 นิ้วเป็นปืนพกซ่อน ข้อดีเห็นได้ชัดเจนว่าคล่องตัว พกพาสะดวก ระบบควบคุมการยิงเป็นแบบเดิม ๆ ที่ผู้ใช้ปืน 1911 คุ้นเคย ไกซิงเกิลล้วน ไม่ต้องลากยาวเหมือนปืนกึ่งอัตโนมัติยุคใหม่ ชิ้นส่วนอะไหล่ของชุดลั่นไกใช้ร่วมกับปืนรุ่นใหญ่ได้ และขนาดหน้าตัดกระสุนที่ไว้ใจได้ในด้านอำนาจหยุดยั้ง ทางด้านข้อด้อยก็คือ ลำกล้องสั้นที่สั้นลงมากส่งผลให้มุมกระดกลำกล้องเพื่อปลดกลอนชันกว่าปืนลำ กล้องยาว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ปืน .45 ออโต้ ที่ลำกล้องสั้นระดับดีเฟนเดอร์นี้ ได้ชื่อว่าเป็นปืนจุกจิกต้องทดลองยิงด้วยกระสุนที่ตั้งใจจะใช้จริงให้แน่ใจ ว่าปืนทำงานเต็มร้อยถึงจะไว้ใจได้ ด้ามสั้นลง ถ้ามือใหญ่อาจไม่มีที่พอรับนิ้วก้อย และลำเลื่อนที่สั้นลงมามากทำให้ระยะศูนย์สั้น ไม่เหมาะสำหรับการยิงเป้าประณีต ซึ่งบางท่านอาจจะไม่ถือเป็นข้อด้อย เพราะไม่ใช่ข้อบ่งใช้ของปืนระดับดีเฟนเดอร์อยู่แล้ว

โดยรวม โคลท์ ดีเฟนเดอร์ เหมาะเป็นปืนพกซ่อนสำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับระบบการทำงานของปืน 1911 เช่นเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ เป็นต้น อาจใช้เป็นปืนสำรอง หรือพกติดตัวขณะแต่งตัวนอกเครื่องแบบ สามารถใช้กระสุนร่วมกับปืนตัวมาตรฐานได้ และความคุ้นเคยชำนาญที่ฝึกซ้อมด้วยปืนกระบอก ใหญ่ก็ใช้กับกระบอกเล็กได้ด้วย เป็นข้อดีที่ควรพิจารณา เพราะปืนตัวเล็กจะไม่ทนทานสมบุกสมบันเท่าปืนตัวใหญ่มาตรฐาน ถ้าต้องซ้อมจัดด้วยปืนตัวเล็กนี้อาจต้องเปลี่ยนชิ้นส่วนอะไหล่บ่อยกว่าที่ คาดครับ.
ข้อมูลของ: ผณิศวร ชำนาญเวช
ที่มา: http://www.dailynews.co.th/crime/118607

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น